ผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจและวินิจฉัยว่าป่วยเป็นถุงน้ำดีอักเสบ จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยแพทย์จะคอยดูแลอาการอักเสบของถุงน้ำดีและอาการป่วยอื่น ๆ การรักษาถุงน้ำดีอักเสบประกอบด้วยการรักษาเบื้องต้นและการผ่าตัด ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
การรักษาเบื้องต้น แพทย์จะไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ เพื่อลดการบีบตัวของหูรูดที่ถุงน้ำดี ลดการระบายสารต่าง ๆ ออกมา รวมทั้งช่วยให้ถุงน้ำดีไม่ทำงานหนัก อย่างไรก็ตาม แพทย์จะเจาะหลอดเลือดดำให้น้ำเกลือทีละหยดแก่ผู้ป่วย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ รวมทั้งให้ยาแก้ปวดผ่านทางหลอดเลือดดำ เพื่อบรรเทาอาการปวดจากการอักเสบให้ทุเลาลง ส่วนผู้ป่วยที่เกิดการติดเชื้อที่ถุงน้ำดี จะได้รับยาปฏิชีวนะรักษาร่วมด้วย ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเบื้องต้นติดต่อกันหลายสัปดาห์ ซึ่งระหว่างที่รับการรักษาอาจอยู่จะที่โรงพยาบาลหรือกลับไปพักรักษาต่อที่บ้าน เมื่ออาการดีขึ้น การรักษาถุงน้ำดีอักเสบในขั้นต้นนี้จะช่วยให้ก้อนนิ่วที่อุดตันหลุดออกมาได้ในบางครั้ง รวมทั้งไม่ทำให้อาการอักเสบแย่ลง
การผ่าตัด ผู้ป่วยถุงน้ำดีอักเสบจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดทันทีในกรณีที่เกิดการอักเสบซ้ำ หรือประสบภาวะแทรกซ้อนอื่น ได้แก่ เนื้อเยื่อตาย (Gangrene) ถุงน้ำดีทะลุ ตับอ่อนอักเสบ เกิดการอุดตันที่ท่อน้ำดี หรือท่อน้ำดีอักเสบ หากเกิดอาการป่วยรุนแรง ผู้ป่วยจะได้รับการใส่ท่อผ่านหน้าท้องเข้าไปที่ถุงน้ำดี เพื่อระบายน้ำดีที่อุดตันออกมา ทั้งนี้ การผ่าตัดถุงน้ำดีใช้เวลาผ่าตัดแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของอาการป่วยและแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นระหว่างและหลังผ่าตัด ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ำจะได้เข้ารับการผ่าตัดภายใน 48 ชั่วโมง ระหว่างพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล หรือช่วงที่รอให้อาการอักเสบลดลงซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ การผ่าตัดถุงน้ำดีอักเสบมีเทคนิคในการผ่าตัดที่แตกต่างกัน ได้แก่ การผ่าตัดแบบส่องกล้อง และการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
การผ่าตัดแบบส่องกล้อง การผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้มักนิยมใช้ผ่าตัดถุงน้ำดีอักเสบมากที่สุด โดยแพทย์จะผ่าท้องผู้ป่วยให้มีบาดแผลเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะผ่าหลายแห่ง และสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไปที่รอยผ่ารอยหนึ่ง เพื่อให้มองเห็นถุงน้ำดีและควบคุมการผ่าตัดได้ และสอดอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าไปยังรอยแผลอื่น ๆ เพื่อผ่าตัดผู้ป่วย
การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง แพทย์จะผ่าเปิดหน้าท้องผู้ป่วยเป็นรอยผ่าขนาดใหญ่ เพื่อผ่าตัดนำถุงน้ำดีออกมา อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้มักไม่ค่อยใช้ผ่าตัดผู้ป่วยบ่อยนัก